PASAGORN-JOURNEY

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

บ้านจ๊างนัก ศิลปะแห่งล้านนา จากฝีมือสล่าผู้สร้างวิญญาณให้ช้างไม้

บ้านจ๊างนัก ศิลปะแห่งล้านนา จากฝีมือสล่าผู้สร้างวิญญาณให้ช้างไม้

วัดหยุดได้มีโอกาศพาลูกสาวไปเที่ยวสถานที่ที่ไม่ใกลจากที่ทำงานของผมมากนัก ตั้งอยู่ อ.สันกำแพง จ. เชียงใหม่ ตามไปเที่ยวกันเลยครับ

ข้อมูลสถานที่..ครับ..
http://www.baanjangnak.com/index.html

บ้านจ๊างนักก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยสล่าเพชร วิริยะ ซึ่งได้รวบรวมเพื่อนฝูง ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหา ช่างแกะสลักฝีมือดีและมีความรักในศิลปะการแกะสลักไม้แบบล้านนา มารวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มแกะสลักขึ้นมา เมื่อปีพ.ศ. 2531 คุณลุงประยูร จรรยาวงศ์  คอลัมน์นิสต์ชื่อดังแห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในขณะนั้น ได้ให้เกียรติมาเยี่ยมเยือน พร้อมกับตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านจ๊างนัก” อันหมายถึงบ้านที่มีช้างเยอะแยะมากมาย



คุณเพชร วิริยะ จบการศึกษาเพียงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นผู้หนึ่งที่อนุรักษ์และมีความผูกพันกับช้างกล่าวว่า "เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ได้เรียนวิชาแกะสลักช้างไม้จากครูคำอ้าย เดชดวงตา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เชี่ยวชาญทางด้านแกะสลักไม้โดยเฉพาะการแกะสลักช้าง หลังจากเรียนมีวิชาชีพในด้านการสลักช้างไม้จากครูคำอ้าย เดชดวงตา ประมาณ 4-5 ปี ออกมาประกอบอาชีพด้วยการเป็นลูกจ้างแกะสลักช้างตามร้านค้าทั่วไป เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในอดีตที่ผ่านมา การแกะสลักช้างจะมีอยู่เพียง 2-3 ท่าเท่านั้น คือท่ายืนและท่าเดินรวมทั้งเป็นงานแกะสลักแบบขัดเกลี้ยงและลงเเล็กเกอร์  บ้านจ๊างนัก ได้มีการพัฒนารูปแบบการแกะสลักช้าง จากเดิมที่ช่างแกะจะมีการแกะสลักแบบตายตัว รูปแบบจะซ้ำกัน มาเป็นการแกะสลักช้างที่ดูมีชีวิตชีวา มีท่าทางท่วงทำนองที่เหมือน ช้างจริง ๆ ซึ่งนับเป็นแห่งแรกที่มีการแกะสลักช้างรูปแบบนี้

ระหว่างปี พ.ศ.2527-28 จึงได้ตัดสินใจเข้าไปศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของช้างว่ามีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ในพ.ศ.2528-2529 จึงรวบรวมลูกศิษย์ 3-4 คน จัดตั้งกลุ่ม "บ้านจ๊างนัก" เริ่มบุกเบิกงาน แกะสลักช้างรูปแบบใหม่โดยเน้นรูปเหมือนจริงและมีหลากหลายอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นท่านนั่ง นอน เดิน หรือแม้แต่ช้างกำลังถ่ายอุจจาระ"  งานแกะสลักช้างของบ้านจ๊างนักจึงมีผู้คนยอมรับกันว่าเป็นงานแกะสลักช้างที่เหมือนจริงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังที่เหมือนจริง ดวงตาที่เหมือนมีชีวิตจริง นับเป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่น่าทึ่งที่สุดอีกแขนงหนึ่ง ที่ควรภาคภูมิใจว่านี่คือฝีมือของคนไทย


รูปแบบของงานแกะสลักช้างของบ้านจ๊างนักจะแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คืองานแกะสลักช้างลอยตัวซึ่งมีขนาดตัวเล็กหรือตัวใหญ่, งานแกะสลักช้างบนแผ่นไม้กระดานสำหรับติดฝาผนัง, งานแกะหัวช้างที่มีทั้งหัวเล็กหรือหัวใหญ่ และงานไม้ท่อนที่แกะช้างเป็นฝูง แต่ที่นิยมและมีคนมาเลือกซื้อมากที่สุดคืองานแกะสลักช้างลอยตัว สำหรับราคาของชิ้นงานแกะสลักช้างของบ้านจ๊างนักในแต่ละชิ้นจะมีตั้งแต่ชิ้นละไม่กี่สิบบาทจนถึงราคานับล้านบาท งานส่วนใหญ่จะส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ประเทศที่นิยมสั่งซื้อมาก อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เยอรมนี ฯลฯ

บ้านจ๊างนัก ยังเป็นแห่งแรกที่มีการทดลองนำวัสดุใหม่ๆที่หาได้ในท้องถิ่นมาทด แทนวัสดุเดิม ที่นับวันมีแต่จะหายากมากขึ้น เช่น มีการนำเอาไม้ขี้เหล็กมาทดแทนไม้สัก ซึ่งประโยชน์เพียงอย่างเดียวของไม้ขี้เหล็กในสมัยก่อน คือนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น และผลที่ได้จากการนำมาแกะสลักพบว่า ไม้ขี้เหล็กเป็นไม้เนื้อแข็งมาก การแกะค่อนข้างยากกว่าไม้สัก แต่ผลงานที่ออกมาจะสวยงาม และสีเป็นธรรมชาติ

งานแกะสลักช้างไม้ทุกชิ้นของบ้านจ๊างนักจะมีรหัสหมายเลขกำกับอยู่ใต้เท้าช้าง ซึ่งจะบอกถึงเดือน,ปี ที่ผลิตและมีอักษร "พ" กำกับอยู่ด้วย ความจริงแล้วสมาชิกของกลุ่มบ้านจ๊างนักจะมีรายได้หลักจากการทำนา จะใช้เวลาว่างจากการทำนามาทำการแกะสลักช้างซึ่งมีรายได้พอประมาณ

นอกจากการทดลองเรื่องของไม้แล้ว ยังมีการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอด กันมามาประยุกต์ใช้ กับงานแกะสลัก นั่นก็คือ นำเอาลูกมะเกลือที่ใช้ในการย้อมผ้า มาย้อมสีไม้ซึ่งก็ให้สีที่เป็นธรรมชาติและไม่มีสารพิษตกค้างเป็นอันตราย ต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม

เมื่อ ปีพ.ศ. 2546 บ้านจ๊างนัก ได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น สังกัดเอกชน ยังผลให้เป็นที่รู้จัก กันอย่างแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ ที่มีความสนใจในศิลปะแขนงนี้ นอกจากนี้ หนึ่งในความภาคภูมิใจของสล่าบ้านจ๊างนักทุกคนคือการที่เป็นส่วนหนึ่ง ของการทำให้ผู้คน ได้เกิดความรัก หวงแหน และ ตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาของช้างไทยในปัจจุบัน และร่วมกันอนุรักษ์ช้างไทยให้อยู่คู่กับคนไทยอีกนานเท่านาน

พิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนัก 56/1 หมู่ 2 ต. บวกค้าง อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ เปิดให้เข้าชมเวลา 8.00 - 17.00 น. ทุกวัน หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการเยี่ยมชม








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น